ห้องเรียนคุณภาพเป็นเป้าหมายการปฏิรูปการศึกษาของประเทศที่สำคัญที่สุดสิ่งหนึ่งคือด้านคุณภาพการศึกษา ปัจจุบันมุ่งเน้นพัฒนาคุณภาพมาตรฐานโดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กำหนดแนวทางขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาคุณภาพการศึกษาแก่สถานศึกษาขั้นพื้นฐานให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เชิงคุณภาพในระดับปฏิบัติ คือ “ระดับห้องเรียน” โดยให้ครูและบุคลากรทางการศึกษามีพื้นฐานความรู้ ความเข้าใจและทักษะพื้นฐาน เกี่ยวกับ“ห้องเรียนคุณภาพ” ที่มีองค์ประกอบ 5 ประการ ดังนี้
1. นำการเปลี่ยนแปลงสู่ห้องเรียน : จะต้องเปลี่ยนแปลงและยกระดับคุณภาพผู้เรียน เห็นการเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรม ชัดเจน เช่นจัดกระบวนการเรียนรู้ที่เน้นการพัฒนาผู้เรียน จัดบรรยากาศ สนับสนุนเอื้อต่อการเรียนรู้ เพื่อให้ผู้เรียนมีคุณภาพมาตรฐานและผลสัมฤทธิ์ตามหลักสูตร
2. ออกแบบการจัดการเรียนรู้อิงมาตรฐาน : ครูเป็นนักออกแบบการจัดหน่วยการเรียนรู้ จัดทำแผนการจัดการเรียนรู้ (Lesson Plan) กำหนดผลการเรียนรู้ที่เน้นการคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ ประยุกต์ริเริ่ม ได้เหมาะสมกับสาระการเรียนรู้ ความแตกต่างและธรรมชาติผู้เรียน ออกแบบการประเมินผลอย่างต่อเนื่อง สามารถนำไปใช้ในการจัดการเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
3. การวิจัยในชั้นเรียน(CAR-Classroom Action Research):ครูมีการพัฒนาตนเองโดยใช้ ID Plan เป็นแนวทาง มีการดำเนินการจัดทำ CAR โดยการวิเคราะห์ผู้เรียนรายบุคคล(CAR 1) การประเมินเพื่อพัฒนาผลจากการสอนของตนเอง(CAR 2) การทำ Case Study เพื่อแก้ปัญหาผู้เรียน(CAR 3) การวิจัยเพื่อพัฒนานวัตกรรม(CAR 4)
4. การใช้ ICT เพื่อการสอนและสนับสนุนการสอน : โรงเรียน ครู นำ ICT มาใช้สนับสนุน การเรียนการสอน เช่นนักเรียนมีการใช้ ICT ในการส่งงานผ่าน E-Mail ผ่านระบบ Lan มีผลงานที่เกิดจากการสืบค้นความรู้จากอินเตอร์เน็ต การทำโครงงานโดยการสืบค้นข้อมูลจากอินเตอร์เน็ต
5. การสร้างวินัยเชิงบวก (Positive Discipline): ปฏิบัติต่อเด็กในฐานะผู้กำลังเรียนรู้โดยปราศจากการใช้ความรุนแรงและเคารพในศักดิ์ศรี ปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรมหรือคุณลักษณะด้วยกระบวนการเสริมแรงเชิงบวก
ในระดับครูผู้สอน จะต้องมองเห็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ 4 ประการ คือ
1) Effective Syllabus : กำหนดหน่วยการเรียนรู้/หลักสูตรระดับรายวิชาที่มีประสิทธิภาพ
2) Effective Lesson Plan : จัดทำแผนการสอน/แผนจัดการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ
3) Effective Teaching : จัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ ใช้เทคนิคการสอนที่หลากหลาย สอดคล้องกับธรรมชาติของผู้เรียน จุดประสงค์การเรียนรู้หรือเนื้อหาสาระ
4) Effective Assessment : วัดและประเมินผลอย่างมีประสิทธิภาพ ให้ความสำคัญกับการประเมินตามสภาพจริง
สรุปได้ว่า “ห้องเรียนคุณภาพ น่าจะเป็นสื่อที่ดี ที่จะสะท้อนไปยังนักเรียน ครูและผู้บริหาร”
ที่มา : http://www.kroobannok.com/30322
สรุปโดย นายเรืองเดช ก่อแก้ว นักศึกษาปริญญาโท สาขาบริหารการศึกษา มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี